ครั้งนี้เราจะแนะนำประเด็น สามสี่ประการ ที่ควรพิจารณา ดังต่อไปนี้

1) สีและผิวสัมผัส

เมื่ออยู่ในที่แคบ สิ่งต่างๆจะอยู่ใกล้ตัวเรามาก จนเห็นหรือสัมผัสมันได้ง่าย และชัดเจน ฉะนั้นการเลือกวัสดุ และพื้นผิวของสิ่ง ที่อยู่ในระนาบแนวตั้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันเป็นปัจจัยทางกายภาพ ที่ทำให้สวนแคบ และเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ตรงหน้า สีและผิวสัมผัสของวัสดุ จะทำให้เรารู้สึกแคบ หรือกว้างขึ้นได้

สีและผิวสัมผัสของวัสดุที่ใช้ ที่ทำรั้ว ผนังอาคาร และพืชพรรณที่ปลูก ควรเป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สว่าง สะอาด เบา ละเอียด และเป็นมิตร หรืออะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกกว้าง ใกล้ชิด และแตะต้องได้อย่างสบายใจ สิ่งที่สามารถทำได้ในสวนของคุณ คือ..

- ทาสีรั้วด้านที่ติดกับสวน ด้วยสีขาวแบบง่ายๆ
- ใช้ไม้พุ่มที่ใบเล็กและดูสะอาด อย่างต้นแก้วและต้นโมก
- ใช้ไม้จริง หรือวัสดุเลียนแบบไม้ กรุผนังภายนอก หรือรั้วบางส่วน ให้ดูเป็นธรรมชาติ
- ไม่ใช้สิ่งประดับตกแต่งผนัง หรือรั้ว มากกว่าสองหรือสามชิ้น

อย่างไรก็ตาม อาจใช้สีแรงๆเพื่อให้น่าสนใจ หรือบางครั้งอาจใช้วัสดุหยาบๆ อย่างหินธรรมชาติ หรือต้นไม้ใบหนา ๆ สีเข้มเพื่อให้รู้สึกเย็นได้

พื้นของสวน ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องเลือกใช้วัสดุ ให้เหมาะสม สวนแคบๆ อาจไม่ปูหญ้าเพื่อให้ดูแลรักษาง่าย โดยเฉพาะสวนบนดาดฟ้า หรือระเบียง แต่ปูด้วยกรวดกลม หรือทรายหยาบเม็ดโตๆ หรือปูด้วยกระเบื้อง ที่แสดงอารมณ์ของสวน โดยไม่ทำให้รู้สึกแคบลงไป..

2) ขนาดและจำนวน

ขนาดของส่วนประกอบต่างๆ จะเป็นตัวที่ทำให้รู้สึกว่ากว้างหรือแคบ เนื่องจากเรามักจะเปรียบเทียบ กับขนาดของตัวเราโดยไม่รู้ตัว พื้นที่แคบ บางทีให้ความรู้สึกพอดีตัว เมื่อขนาดของส่วนประกอบต่างๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป แต่หากจัดสิ่งของ หรือส่วนประกอบ ที่ใหญ่โตมาก หรือเล็กจิ๋วเข้าไป จะทำให้รู้สึกผิดสัดส่วน และรู้สึกว่าแคบได้ชัดเจนขึ้น...

ส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆ เป็นสิ่งที่ทำให้สวนมีชีวิตชีวา และมีอะไรๆให้ดู.. ควรเลือกสิ่งที่น่าสนใจสักชิ้นสองชิ้น ที่เมื่อวางในสวนแล้ว เข้ากับกระถาง หรือต้นไม้หรือพื้นสวน เช่น กบดินเผา หรือบ้านรังนก โคมไฟแสงสว่างสักอัน ก็อาจทำให้สวนน่าดูในเวลากลางคืน

การเลือกของ สำหรับจัดสวนในพื้นที่เล็กๆนี้ไม่ยากนัก เพียงแต่อย่าลืมพิจารณาสัดส่วนของสิ่งของ เช่น กระถาง บ่อน้ำพุ ต้นไม้ รูปปั้น และเฟอร์นิเจอร์สนาม รวมถึงสมาชิกที่เป็นผู้ใช้สวนด้วย พิจารณาเปรียบเทียบ กับขนาดของพื้นที่ที่มีให้พอดี ก่อนที่จะยกเข้ามาจัดไว้ในสวน

จำนวนของส่วนประกอบต่างๆก็เช่นเดียวกัน จำนวนสิ่งของที่มากเกินไป จะทำให้ที่ดูแคบลงไปอย่างแน่นอน แต่จำนวนที่น้อยเกินไป ก็อาจทำให้น้ำหนัก ขององค์ประกอบต่างๆไม่สวยงาม เช่น กระถางขนาดสูงประมาณเข่าสัก 4–5 ใบ ใส่ต้นไม้สูง 1-2 เมตร ในที่ 2-3 ตารางเมตร น่าจะดูพอดี กว่ากระถางใหญ่ที่สูงเกิน 60 ซม.เพียงใบเดียว แต่ถ้ามีที่น้อยมาก ม้ายาวหนึ่งตัว อาจเหมาะสมกว่า เก้าอี้ที่มีที่วางแขนสามสี่ตัว ในที่เดียวกัน... การแบ่งที่โล่งว่างไว้ให้มีสัดส่วนพอเหมาะกับพื้นที่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จะไม่ทำให้สวนดูคับแคบเกินไปและเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่ได้ใช้สวน ทำกิจกรรมอะไรแล้ว การจัดให้มีที่ว่าง อาจไม่ต้องคิดถึงมากนัก เพียงแต่ให้คำนึงถึง การจัดองค์ประกอบ ของสิ่งต่างๆให้ลงตัวเป็นสำคัญ...

3) พืชพรรณ

เราอาจพิจารณาคุณสมบัติ ของพืชพรรณไปแล้วในข้อแรก การเลือกต้นไม้ ยังเป็นเรื่องยาก เพราะมีความหลากหลาย และเป็นสิ่งที่เติบโตเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเราต้องศึกษานิสัย ความต้องการ และลักษณะการเติบโต ของต้นไม้ด้วย โดยเริ่มจากต้นไม้ที่เราชอบ หรือสนใจก่อน

ในที่แคบ เรามักใช้ต้นไม้ไม่ได้มากต้นนัก เราสามารถปลูกได้ ทั้งในกระถางและลงดิน การปลูกต้นไม้ลงดินไปเลย มีข้อดีตรงที่มันจะเติบโตต่อไปได้เต็มที่ และแข็งแรง แต่ในที่แคบ อาจปลูกได้เพียงหนึ่งหรือสองต้น และเป็นประเภท ที่ไม่แผ่กิ่งก้านมากเมื่อโตขึ้นไป ชนิดที่แตกกอ หรือกิ่งก้านมาก ควรหลีกเลี่ยง และต้นไม้ที่พุ่มใบโปร่ง จะน่าปลูกกว่าชนิดที่มีใบมาก และใหญ่…

ถ้าปลูกต้นไม้ลงดินไม่ได้ ก็ต้องใช้กระถาง ถ้าอยากมีไม้ต้นการเลือกต้นไม้ ที่ขุดล้อมมาที่มีความสูงราว สามถึงสี่เมตร มาปลูกในกระถางขนาดพอดี น่าจะเป็นทางออกที่ดี เนื่องจากจะได้ความสูงของต้นไม้ แต่กระถาง ไม่ทำให้พื้นที่แคบเข้าไปอีก ต้นไม้ที่ขุดล้อมมานี้จะแตกกิ่งเล็กๆ อีกบ้าง แต่จะไม่ต้องการดินมาก อย่างไรก็ตามอย่าลืมใส่ปุ๋ยคอกเรื่อย ๆ และระวังเรื่องลมที่พัด ระหว่างช่องอาคาร อาจทำให้ต้นไม้ล้มได้

ไม้ประดับและไม้กระถางขนาดย่อมรองๆ ลงมาไม่น่าเป็นปัญหามาก เราอาจเลือกได้ตามใจ เพียงแต่ไม่ควรมีหลากหลายชนิดเกินไป เพราะจะจัดวาง ให้เข้ากันค่อนข้างยาก แต่ก็เป็นไปได้ และอย่าละเลยเรื่องดูแลรักษา ตัดแต่ง ให้เรียบร้อยบ้าง…

สิ่งที่อาจต้องมีสำหรับไม้กระถาง คือ ที่วางหรือขาตั้ง เนื่องจากที่ที่มีอาจแคบมาก จนเหลือแต่กระถางกับคนปลูก ดังนั้นหากต้องยกกระถางขึ้นมาให้สูง พอที่จะไม่ต้องก้ม ควรทำที่วางให้เรียบร้อยเป็นพิเศษ ให้ข้างใต้ไม่เป็นที่หลบของหนูหรือยุง

การเลือกกระถางใส่ต้นไม้ และที่บรรจุกระถาง ก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สามารถใช้แนวทางในข้อหนึ่ง และสอง พิจารณาเลือกกระถางได้

บางคนอาจไม่มีที่เลยจริงๆ แต่ก็ยังต้องการปลูกต้นไม้ ก็สามารถจัดกระถางเล็กๆ วางไว้ในจุดที่พอจะชื่นชมได้ และไม่เกะกะบ้าน อย่างกระบองเพชร หรือแอฟริกันไวโอเล็ต วางไว้ริมหน้าต่าง ลักษณะนี้ให้เลือกภาชนะ และจานรองสวยๆ ที่เข้ากัน กับการจัดบ้านก็เพียงพอ...

4) การมองเห็นและความเป็นส่วนตัว

ปัญหาของที่แคบข้อหนึ่ง คือ มักอยู่ติดที่คนอื่น ที่อาจมองไปเห็นหรือถูกมองเข้ามาได้ เราอาจทำฉากกั้นเป็นบางส่วน แล้วแต่งด้วยไม้ประดับ แต่การปิดล้อมตัวเอง อย่างมิดชิด อาจเป็นไปไม่ได้ หรืออาจทำให้อึดอัดมากกว่าที่จะเข้าท่า กรณีนี้อาจต้องยอมมีช่องเปิดบ้าง เพียงแต่ไม่ควร วางสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ ให้เห็นได้จากภายนอก (นอกจากจะตั้งใจโชว์) และพิจารณาจัดทิศ ของการมอง ไปทางด้านที่เราจัดให้สวยงามได้ แทนที่จะมีสิ่งอื่น ที่ไม่สวยเป็นฉากหลัง

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องจริงจัง กับปัญหาข้อนี้นัก การอยู่ร่วมกับสิ่งอื่นๆ หรือคนอื่นบ้าง เป็นเรื่องที่ไม่เลวร้ายเกินไป...

แนวทางเบื้องต้นที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด และอาจมีทั้งข้อยกเว้น และมีแนวคิดอื่นๆ ที่ใช้แก้ปัญหาที่แคบได้เช่นกัน...