เจ้าของผลงานเล่าว่า เนื่องจากเป็นชาว จ.เลย โดยกำเนิด มีความผูกพันกับผีตาโขนอย่างลึกซึ้งตั้งแต่วัยเยาว์ และอยากถ่ายทอดศิลปะและภูมิปัญญาที่งดงามของบ้านเกิดให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกผ่านสินค้าที่ระลึก จึงเริ่มจากผลิตผีตาโขนย่อส่วนทำจากไม้เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว
       
       ทว่า ผลงานดังกล่าวมีปัญหา นานวันไปเนื้อไม้จะขึ้นรา และผุพัง เลยเปลี่ยนวัสดุมาเป็นพลาสติก แต่ก็ยังไม่ได้ผลงานที่พอใจนัก เพราะรู้สึกว่า พลาสติกขาดเสน่ห์ความเป็นแฮนด์เมด และขาดเอกลักษณ์ความเป็นธรรมชาติ จึงลองเปลี่ยนมาทำรูปแบบเซรามิกดูบ้าง
       
       แม้อภิชาติ จะมีพื้นฐานงานศิลปะ เพราะจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง แต่เป็นสาขาจิตรกรรม ความรู้เชิงประติมากรรม และกระบวนการผลิตเซรามิกต้องเรียนรู้ใหม่ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยศึกษาตามโรงงานเซรามิก ที่ จ.ลำปาง กับเรียนรู้จากตำรา และลองผิดลองถูกเอง นานกว่า 2 ปี จนสำเร็จประมาณปี 2530 ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตงานลักษณะนี้รายแรกของไทย และถึงปัจจุบันก็ยังเป็นรายเดียวอยู่
       
       “ผลงานชิ้นนี้ ผมถือว่าเป็นงานศิลปะซ้อนศิลปะ เพราะเครื่องปั้นดินเผาก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ผีตาโขนก็เป็นศิลปะอีกด้านหนึ่ง เมื่อเรานำมาประยุกต์ไว้ด้วยกัน ข้อดี คือ ความคงทน ซื้อไปนานเท่าไร ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปวางโชว์ที่บ้านเขา ก็ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนของจ.เลย ภาคอีสาน และประเทศไทยให้ขยายกว้างออกไป” อภิชาติ กล่าว





       ด้านลวดลายของผีตาโขนบนเซรามิก เน้นเรียบง่าย เหมือนแบบดั้งเดิมที่สุด เพราะอยากทำงานในเชิงอนุรักษ์ ต่างจากผีตาโขนปัจจุบันที่ชาวบ้านมักจะนำศิลปะต่างๆ จากตะวันตก หรือญี่ปุ่นมาผสม แม้จะดูสวยงาม แต่เสน่ห์ความคลาสสิกมันหายไป

       ทั้งนี้ เซรามิกผีตาโขนมีมากกว่า 20 ประเภท เน้นให้สินค้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ความเป็นสากล การออกแบบจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เช่น โคมไฟ แก้วน้ำ แก้วกาแฟ แจกัน กระถางต้นไม้ โมบาย ชุดน้ำชา ฯลฯ โดยได้รับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม และมาตรฐานสินค้าชุมชนด้วย ส่วนราคาวางไว้ที่ระดับปานกลาง ทุกคนสามารถซื้อหาได้ง่าย เริ่มต้นที่ 50 – 3,000 บาท นอกจากนั้น ปัจจุบันได้เพิ่มเติมสินค้าใหม่อย่างเปเปอร์มาเช่ผีตาโขนด้วย

       สำหรับช่องทางตลาดนั้น ฝากขายตามร้านสินค้าที่ระลึกใน จ.เลย กับออกงานแสดงสินค้าโอทอป ประจำปี รวมถึง รับจ้างผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกให้แก่บริษัทหรือหน่วยงานราชการต่างๆ สำหรับช่วงที่ขายดีที่สุด คือ ระหว่างมีงานเทศกาลผีตาโขน ราวเดือนกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมา จ.เลย นับแสนคน ซึ่งเซรามิกผีตาโขนเป็นสินค้าที่ระลึกยอดฮิตอีกชนิดหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวมักซื้อติดไม้ติดมือกลับไป

       ด้านการสร้างงาน และสร้างอาชีพให้ชุมชนนั้น อภิชาติ เล่าว่า นำชาวบ้านในท้องถิ่นมาฝึกสอนเพื่อเป็นแรงงานผลิต ปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิก 12 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ทำงานด้วยกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอยากจะมาทำงานนี้มากนัก

       “ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ยังชอบที่จะทำงานโรงงานในเมือง ไม่ชอบที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ของตัวเอง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจมาทำงานแบบนี้ เพราะเป็นงานแฮนด์เมด ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และเวลาฝึกฝนนาน ดังนั้น ผมจึงอยากให้คนรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมขึ้นในสมอง ซึ่งมันจะมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับประเทศของเรา” เจ้าของผลงาน กล่าว