การเทและการอัดแน่นคอนกรีต เป็นขั้นตอนการทำคอนกรีตที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน แต่เป็นอิสระต่อกัน โดยควรถือว่า การเทและอัดแน่นเป็นขั้นตอนเดียวกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ จะแยกพิจารณาเป็นสองขั้นตอนเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น

การเทคอนกรีตอย่างถูกวิธีทำได้อย่างไร?

คอนกรีต : คอนกรีตมีคุณภาพสม่ำเสมอและมีปริมาณเพียงพอ , และมีอัตราการลำเลียงที่เหมาะกับอัตราการเท

เครื่องมือ : เครื่องมือที่เทมีเพียงพอ , สะอาด และพร้อมใช้งาน , มีอัตราการเทที่เหมาะสม , สามารถเข้าใกล้จุดที่ต้องการเทมากที่สุด , และไม่ทำให้คอนกรีตแยกตัว

การเตรียมการอื่น ๆ : มีคนงานเพียงพอ , ถ้าเทกลางคืน ควรมีแสงไฟเพียงพอ , และตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ เช่น รอยต่อ แบบหล่อ เหล็กเสริม และสิ่งที่จะฝังติดในคอนกรีต ให้พร้อมก่อนการเท

การเทคอนกรีตอย่างถูกวิธี

ตำแหน่งและการทิศทางการเท : การเทคอนกรีตให้เคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งให้ใกล้จุดที่ต้องการจะเทมากที่สุดในแบบหล่อ และหลีกเลี่ยงการทำให้คอนกรีตเคลื่อนที่ในแนวราบ เพื่อป้องกันการแยกตัวของคอนกรีต

ระยะห่างในการเท : ระยะตกอิสระของคอนกรีต ไม่ควรเกิน 1.5 เมตร เพื่อให้มั่นใจว่าเทคอนกรีตได้ถูกตำแหน่งที่ต้องการ และเพื่อลดการแยกตัวของคอนกรีต

อัตราการเท : ควรเหมาะสมกับอัตราการอัดแน่นคอนกรีต

ความหนาของชั้นคอนกรีตที่เท : ควรเทคอนกรีตเป็นชั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรเทเป็นกองสูง ความหนาของการแต่ละชั้น ควรเหมาะสมกับวิธีการอัดแน่น เพื่อให้สามารถไล่ฟองอากาศออกจากคอนกรีตได้มากที่สุด โดยทั่วไป ไม่ควรหนาเกินชั้นละ 45 เซนติเมตร

รอยต่อระหว่างชั้นการเทคอนกรีต : คอนกรีตในแต่ละชั้น ควรได้รับการอัดแน่นก่อนที่จะเทชั้นต่อไป และควรเทชั้นต่อไปในขณะที่ชั้นล่างยังเหลวอยู่ เพื่อให้คอนกรีตทุกชั้นเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการเกิดรอยแยกระหว่างชั้นการเท (Cold Joint)

ถ้าตรวจพบการเยิ้มของน้ำขึ้นมาบนผิวคอนกรีตชั้นที่เทก่อนแล้ว ควรหยุดเทและกำจัดน้ำที่เยิ้มออกให้หมด ก่อนที่จะเทคอนกรีตชั้นถัดไป

เมื่อไม่สามารถเทคอนกรีตส่วนใดให้แล้วเสร็จได้ ให้หยุดเทตามตำแหน่งทำให้โครงสร้างเสียความแข็งแรงน้อยที่สุด

ข้อควรระวัง : ไม่ควรเทคอนกรีตตกระทบกับแบบหล่อเหล็กเสริม หรือสิ่งที่จะฝังติดในคอนกรีต เพราะอาจทำให้คอนกรีตแยกตัวได้

การอัดแน่นคอนกรีตคืออะไร?

การอัดแน่นคอนกรีต คือ กระบวนการไล่อากาศ ( Entrapped Air) ออกจากคอนกรีตสดที่เทแล้วให้มากที่สุด ทำให้อนุภาคของแข็งในคอนกรีตเข้าใกล้กัน เพื่อให้คอนกรีตที่แข็งตัวแล้วมีช่องว่างน้อยที่สุดหรือมีความหนาแน่นสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้

โดยปกติ ถ้าไม่มีการอัดแน่นคอนกรีตสดภายหลังการเท จะทำให้เกิดรูโพรงและช่องว่างอากาศ ( Entrapped Air) ขึ้น เมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้ว จะมีเนื้อไม่สม่ำเสมอ , มีกำลังต่ำ และมีผิวไม่สวย

วิธีการอัดแน่นคอนกรีต

วิธีการอัดแน่นคอนกรีต ควรเหมาะสมกับความสามารถเทได้ของคอนกรีตสด, เครื่องมือที่ใช้ลำเลียงและเท , อัตราการเทและวิธรการเท , ขนาดและรูปร่างของแบบหล่อ , ความหนาแน่นของเหล็กเสริมและสิ่งที่จะฝังติดในแบบหล่อ โดยในบทความนี้ ได้แบ่งวิธีการอัดแน่นเป็น 5 วิธี ได้แก่

  1. วิธีการอัดแน่นคอนกรีตโดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้มือ เหมาะสำหรับการเทคอนกรีตสดที่ค่อนข้างเหลว ในปริมาณที่น้อย อัดแน่นโดยการใช้อุปกรณ์ตำหรือกระทุ้งบริเวณรอบ ๆ เหล็กเสริมและสิ่งที่จะฝังติดในคอนกรีต
  2. วิธีการอัดแน่นคอนกรีตโดยใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตแบบภายในหรือเครื่องจี้เขย่าคอนกรีต
  3. วิธีการอัดแน่นคอนกรีตโดยให้เครื่องเขย่าคอนกรีตแบบภายนอกหรือเครื่องเขย่าคอนกรีตชนิดติด ข้างแบบ ซึ่งเครื่องเขย่าคอนกรีตชนิดติดข้างแบบ นิยมใช้ในงานคอนกรีตอัดแรงหรือโครงสร้างขนาดบาง
  4. วิธีการอัดแน่นคอนกรีตโดยใช้โต๊ะเขย่าคอนกรีต โต๊ะเขย่าคอนกรีต เหมาะสำหรับการทำ คอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้คอนกรีตสดที่แห้งมาก
  5. วิธีการอัดแน่นคอนกรีตโดยเครื่องเขย่าคอนกรีตประเภทอื่น ๆ มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน อาทิเช่น เครื่องเขย่าคอนกรีตชนิดสั่นบนผิวคอนกรีต ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการก่อสร้างแผ่นพื้น , รถบดอัน เหมาะสำหรับการอัดแน่นแผ่นพื้นบางๆ ในกานทำถนน , เครื่องเขย่าชนิดปั่นนิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์ท่อคอนกรีต เสาเข็ม Spun Piles และ ผลิตภัณฑ์ที่มีหน้าตัดกลวงอื่น ๆ

วิธีการอัดแน่นคอนกรีตที่ดีทำได้อย่างไร?

ผลของการอัดแน่นคอนกรีตที่ดี จะทำให้คอนกรีตที่มีเนื้อแน่นสม่ำเสมอ ไม่แยกตัว ไม่เป็นรูโพรงรวมถึงการป้องกันไม่ให้แบบหล่อ เหล็กเสริม และสิ่งที่จะฝังติดเคลื่อนที่ การยึดเหนี่ยวที่ดีระหว่างเหล็กเสริมกับคอนกรีต และระหว่างคอนกรีตชั้นต่างๆ , มีรอยร้าวน้อยที่สุด , มีผิวเรียบสม่ำเสมอ , ไม่มีรอยตำหนิ , มีกำลัง ความคงทน และมีอายุใช้งานได้นาน

การใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตแบบภายในอย่างถูกต้อง

ตำแหน่งและระยะห่างในการจุ่มหัวจี้ : ควรกำหนดระยะห่างการจี้ที่เหมาะสม เพื่อให้คอนกรีตทุกบริเวณในแบบหล่อได้รับการอัดแน่น ระยะห่างในการจุ่มหัวจี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวจี้ และรัศมีทำการหรือระยะห่างจากหัวจุ่มที่คอนกรีตสดยังความสามารถได้รับการอัดแน่นได้เป็นอย่างดี

ทิศทางการจุ่มหัวจี้ : ควรจุ่มหัวจี้ในแนวดิ่งลงไปตลอดความลึกของชั้นการเทคอนกรีตสด และทะลุผ่านถึงชั้นล่างซึ่งยังเหลวอยู่ด้วย เพื่อให้เนื้อคอนกรีตทั้งสองชั้นการเทเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน

ระยะเวลาการจุ่มหัวจี้ : เวลาในการจี้เขย่าที่เหมาะสมเพื่อให้คอนกรีตได้รับการอัดแน่นเป็นอย่างดี สังเกตได้จากพฤติกรรมของคอนกรีตสดในขณะจี้เขย่า อาทิ การจมลงของหินหรือกรวดเม็ดใหญ่ , จี้เขย่าจนคอนกรีตได้ระดับ , เกิดฟิล์มของมอร์ต้าบางๆ บนผิวหน้าคอนกรีต , สังเกตเห็นซีเมนต์เพสต์บริเวณรอยต่อระหว่างคอนกรีตกับแบบหล่อ , และไม่สังเกตเห็นฟองอากาศขนาดใหญ่ลอยขึ้นมาที่ผิวหน้าคอนกรีตอีกต่อไป

การถอนหัวจี้กลับขึ้นมา : เมื่อจี้เขย่าแล้วเสร็จควรถอนหัวจี้กลับขึ้นมาอย่างช้า ๆ เพื่อให้ช่องเปิดที่เกิดจากการใช้หัวจี้ปิดตัวเองได้สนิท ไม่มีฟองอากาศขังอยู่

การแต่งผิวหน้าคอนกรีตคืออะไร?

การแต่งผิวหน้าคอนกรีต คือ การทำผิวหน้าคอนกรีตให้ประสานเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อคอนกรีตภายในที่อัดแน่นแล้วในแบบหล่อ มีความแข็งแกร่งของผิวใกล้เคียงหรืออาจมากกว่าเนื้อคอนกรีตภายใน และมีความเรียบหรือลักษณะผิวคอนกรีตเหมาะสมกับการประยุกต์ใช้งาน

การแต่งผิวหน้าคอนกรีตอย่างถูกต้องทำได้อย่างไร?

การแต่งผิวหน้าคอนกรีตอย่างถูกต้องนั้น ทำได้โดยการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผิวคอนกรีต ได้แก่

อุปกรณ์และเครื่องมือแต่งผิวหน้า : เลือกใช้ชนิดอุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสมกับลักษณะงานคอนกรีต และตรวจสอบสภาพการให้พร้อมใช้งาน

เวลาในการแต่งผิวหน้า : ภายหลังการอัดแน่นคอนกรีตแล้ว จำเป็นต้องยืดเวลาการแต่งผิวหน้าคอนกรีตออกไป จนกระทั่งสังเกตไม่พบน้ำเยิ้มอยู่บนผิวน้ำเยิ้มอยู่บนผิวหน้าคอนกรีตอีกต่อไป หรืออาจมีความจำเป็นต้องเอาน้ำออกจากผิว แล้วจึงค่อยทำการแต่งผิวหน้าก่อนคอนกรีตเริ่มแข็งตัว โดยเวลาที่ยืดออกไปนี้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ , ความชื้น และความเร็วลม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการระเหยของน้ำที่เยิ้มอยู่บนผิวคอนกรีต

ข้อควรระวัง : ไม่ควรเติมน้ำ เพื่อทำให้คอนกรีตเหลวและทำการแต่งผิวหน้าได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้วจะทำให้ผิวหน้าคอนกรีตมีความแข็งแรงลดลง และเกิดเป็นชั้นหรือแผ่นมอร์ต้าบาง ๆ ที่อ่อนแอ ที่เรียกว่า Laitance ขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวหน้าคอนกรีตหลุดล่อนได้ในระหว่างการใช้งาน

ผลกระทบของการแต่งผิวหน้าคอนกรีตเร็วเกินไป

การแต่งผิวหน้าคอนกรีตในขณะที่ยังมีน้ำเยิ้มอยู่บนผิว จะทำให้ผิวหน้าคอนกรีตเมื่อแข็งตัวแล้วมีความแข็งแรงลดลง เกิดการแตกร้าวหรือหลุดล่อนได้ง่าย

ผลกระทบของการแต่งผิวหน้าคอนกรีตช้าเกินไป

อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพองปูดและหลุดล่อนเป็นชั้นต่าง ๆ ของผิวหน้าคอกกรีตหรือมอร์ต้า ภายหลังจาการแต่งผิวหน้าแล้วเสร็จไม่นานนัก

การบ่มคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง

การบ่มคอนกรีตคืออะไร?

การบ่มคอนกรีต คือ การรักษาระดับปริมาณความชื้นและอุณหภูมิของคอนกรีต โดยเฉพาะในช่วงอายุเริ่มต้นของคอนกรีตให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อลดการแตกร้าวของคอนกรีต และทำให้คอนกรีตมีกำลังและความคงทนสูง

ปัญหาที่พบบ่อยในการก่อสร้างหรือหล่อแผ่นพื้นคอนกรีตในสภาพอากาศร้อนหรือมีลมพัดแรง อาทิเช่น พื้นอาคาร , พื้นถนน , พื้นสนามบิน , หรือแม้แต่แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป คือ การแตกร้าวของคอนกรีตในขณะที่กำลังแข็งตัว อันเกิดจากการขาดการบ่มคอนกรีต หรือการบ่มล่าช้าเกินไป หรือการบ่มอย่างผิดวิธี

วิธีการบ่มคอนกรีต แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามสภาพอุณหภูมิที่ใช้บ่ม ได้แก่ การบ่มอุณหภูมิปกติ และ การบ่มที่อุณหภูมิสูง

วิธีการบ่มที่อุณหภูมิปกติด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การบ่มโดยการเพิ่มน้ำ และการบ่มโดยการป้องกันการสูญเสียความชื้น

การบ่มโดยการเพิ่มน้ำ เป็นการเพิ่มน้ำให้ผิวหน้าคอนกรีตในระยะเริ่มแข็งตัวโดยตรงอย่างต่อเนื่อง โดยควรคำนึงถึงความสามารถในการจัดหาน้ำ , แรงงาน , และวัสดุที่ใช้บ่ม ซึ่งน้ำที่ใช้บ่มจะต้องไม่มีสสารที่เป็นอันตรายต่อคอนกรีต , ไม่ทำให้ผิวคอนกรีตเปลี่ยนสี , และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำบ่มที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าคอนกรีตเกิน 10 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมากโดยฉับพลันและทำให้คอนกรีตแตกร้าวได้

การฉีดหรือพรมน้ำ : เหมาะกับโครงสร้างทั้งที่อยู่ในแนวราบและแนวดิ่ง เช่น แผ่นพื้น , ผนัง , กำแพง

การขัง : เหมาะกับโครงสร้างที่อยู่ในแนวราบ เช่น พื้นอาคาร , ทางน้ำไหล , พื้นสะพาน , พื้นถนน , พื้นสนามบิน

การใช้วัสดุเปียกชื้นคลุม : เหมาะกับโครงสร้างทั้งที่อยู่ในแนวราบและแนวดิ่ง เช่น พื้นอาคาร , พื้นถนน , ผนัง , กำแพง

การบ่มโดยการป้องกันการสูญเสียความชื้น เป็นการใช้วัสดุปิดทับหรือเป็นฟิล์มเคลือบผิวคอนกรีต อาทิ เช่น กระดาษกันน้ำซึม , ผ้าพลาสติก , น้ำยาบ่มคอนกรีต และการบ่มโดยใช้แบบหล่อทำหน้าที่เป็นแผ่นคลุมเพื่อลดการสูญเสียน้ำที่ระเหยออกจากคอนกรีต

การใช้กระดาษกันน้ำซึมคลุม : ควรเป็นไปตามข้อกำหนดของ ASTM C 171 นิยมใช้กับพื้นราบ

การใช้ผ้าพลาสติกคลุม : ควรเป็นไปตามข้อกำหนดของ ASTM C 171 ใช้ได้กับทุกโครงสร้าง โดยเฉพาะที่ไม่เน้นลักษณะผิวที่ปรากฏ เช่น รางน้ำ , พื้นหลังคา , พื้นถนน , ขอบทาง

การใช้น้ำยาบ่มคอนกรีต : ควรเป็นไปตามข้อกำหนดของ ASTM C 309 ใช้ได้กับโครงสร้างพิเศษต่างๆ ที่ต้องการใช้งานเร็ว เช่น พื้นสนามบิน , หลังคากว้าง ๆ , หลังคาเปลือกบาง , พื้นถนน , อาคารสูง

การบ่มโดยใช้แบบหล่อ : ใช้ได้กับโครงสร้าง เช่น ฐานราก , เสา , คาน , ผนัง , กำแพง เป็นต้น

การบ่มโดยการควบคุมอุณหภูมิ โครงสร้างคอนกรีตที่มีความหนามาก การบ่มคอนกรีตจำเป็นต้องรักษาระดับอุณหภูมิของคอนกรีต โดยเฉพาะช่วงอายุเริ่มต้นของคอนกรีตให้เหมาะสมด้วย เพื่อป้องกันการแตกร้าวอันเกิดจาการหดตัวที่แตกต่างกันของคอนกรีตที่มีความร้อนซึ่งสะสมอยู่ภายในเนื้อคอนกรีตในแต่ละบริเวณแตกต่างกัน

การบ่มที่อุณหภูมิสูง

เป็นการบ่มแบบเร่งกำลังโดยไอน้ำ , หรือขดลวดความร้อน , หรือฐานรองให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า นิยมใช้ในงานผลิตคอนกรีตสำเร็จรูป มีข้อดี คือ สามารถผลิตได้รวดเร็ว , ประหยัดแบบหล่อ , และ มีกำลังสูงเร็ว

การบ่มคอนกรีตอย่างถูกวิธีทำได้อย่างไร ทำได้ดังนี้

การป้องกันการระเหยของน้ำออกจากคอนกรีต : ควรควบคุมปัจจัยที่ทำให้มีการระเหยของน้ำออกจากคอนกรีตมากเกินไป ได้แก่ อุณหภูมิอากาศและอุณหภูมิคอนกรีตสูง , ความชื้นสัมพัทธ์ ต่ำ , และความเร็วลมแรง โดยทำการบ่มคอนกรีตอย่างถูกวิธี

ระยะเวลาการบ่มคอนกรีต : เป็นช่วงเวลาที่ดำเนินการบ่มคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิเช่น ชนิดของปูนซีเมนต์ , ชนิดและปริมาณของสารผสมเพิ่มในคอนกรีต , สัดส่วนผสมคอนกรีต , กำลังและความคงทนของคอนกรีตที่ต้องการ , ขนาดและรูปร่างโครงสร้าง , อุณหภูมิที่ใช้บ่ม , และความชื้นในขณะบ่ม

คอนกรีตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 1 โดยทั่วไป ควรบ่มต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน

คอนกรีตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 3 โดยทั่วไป ควรบ่มต่อเนื่องอย่างน้อย 3 วัน

น้ำบ่มคอนกรีต : อุณหภูมิของน้ำที่ใช้บ่ม ไม่ควรต่ำว่าคอนกรีตเกิน 10 องศาเซลเซียส

การบ่มในสภาพอากาศร้อน : ควรเพิ่มเติมการบ่มในระยะแรกภายหลังการแต่งผิวหน้าแล้วเสร็จและผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้ง เพื่อป้องกันการแตกร้าวจากการหดตัวในขณะที่กำลังแข็งตัว การบ่มระยะเริ่มต้นทำได้หลายวิธี เช่น การใช้สารลดการระเหย , การพ่นน้ำ , การทำที่กำบังแสงแดและลม

น้ำยาบ่มคอนกรีต : ไม่ควรใช้น้ำยาบ่มกับผิวคอนกรีตที่จะมีการก่อสร้างต่อ , ทาสี หรือปูกระเบื้อง หรือพ่นลงบนเหล็กเสริมหรือรอยต่อ เพราะจะทำให้การยึดเหนี่ยวเสียไป ควรฉีดพ่นน้ำยาบ่มคลุมผิวคอนกรีต ภายหลังจากการแต่งผิวหน้าคอนกรีตเสร็จแล้ว และผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้ง

ข้อควรระวัง : ในช่วงอายุเริ่มต้นของคอนกรีตหรือมในขณะที่คอนกรีตกำลังเข็งตัว ควรหลีกเลี่ยงการทำให้คอนกรีตได้รับการสั่นสะเทือน , การกระแทก , การรับน้ำหนักมากเกินไป , และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของคอนกรีตโดยฉับพลัน

การถอดแบบหล่อคอนกรีตตามเวลาที่เหมาะสม

แบบหล่อคอนกรีตคืออะไร?

แบบหล่อคอนกรีต คือ แบบที่ทำจากวัสดุ อาทิเช่น ไม้ , ไม้อัด , เหล็ก , ไฟเบอร์กลาส , พลาสติก หรือแม้กระทั่งที่เป็นคอนกรีตเอง เพื่อใช้หล่อคอนกรีตให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ โดยคำนึงถึงความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงดันและน้ำหนักของคอนกรีต , ผิวของคอนกรีตที่ปรากฏ , งานที่จะตามมาภายหลังการถอดแบบ , และความประหยัด

การจำแนกชนิดของแบบหล่อ อาจแบ่งตามลักษณะการรับแรงดันและน้ำหนักของคอนกรีตได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ชิ้นส่วนที่รับแรงด้านข้าง และชิ้นส่วนที่รับน้ำหนักในแนวดิ่ง หรืออาจแบ่งตามชนิดของโครงสร้าง เช่น แบบหล่อคอนกรีตทั่ว ๆ ไป และแบบหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป หรืออาจแบ่งตามเทคนิคการก่อสร้าง เช่น แบบหล่อสำหรับงานก่อสร้างทั่ว ๆ ไป แบบหล่อแบบเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง และแบบหล่อแบบเคลื่อนที่ในแนวราบ

แบบหล่อที่ดี จะให้ความประณีต ความสวยงาม และความแข็งแรงแก้โครงสร้างคอนกรีต อีกทั้งยังสามารถกำหนดต้นทุนในการก่อสร้างได้ส่วนหนึ่งด้วย

การถอดแบบหล่อคอนกรีตตามเวลาที่เหมาะสมทำอย่างไร

เนื่องจากเวลาถอดแบบหล่อคอนกรีตขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีตและการบ่มคอนกรีตเป็นสำคัญ ดังนั้นการถอดแบบได้เร็วเพื่อให้สามารถนำแบบไปใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งนั้น จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพคอนกรีตให้มีกำลังในระยะเริ่มแรกสูงเพียงพอ และในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมให้มีกำลังอัดที่อายุ 28 วัน ตามต้องการด้วย

ปกติองค์อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทุกชนิดจะมีการยืด หด และโก่งตัว แต่ที่มีผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆโดยตรง คือ การโก่งตัวองค์อาคารรับแรงดัน เช่น แผ่นพื้น และคาน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะกับผนังก่ออิฐ หรือ บล็อก คือ ทำให้เกิดการแตกร้าวได้ ดังนั้นจึงควรรีบถอดแบบหล่อและค้ำยันออกให้หมด เมื่อคอนกรีตมีอายุครบกำหนด หรือมีกำลังไม่น้อยกว่ากำลังที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาดูด้วยว่าน้ำหนักแบบหล่อ , น้ำหนักค้ำยัน , และน้ำหนักแผ่นพื้นและคานที่จะหล่อของพื้นชั้นถัดไป จะมีน้ำหนักมากกว่าที่ได้รับหรือไม่ ถ้ามากกว่าก็ควรจะคงค้ำยันไว้บ้าง โดยเหลือค้ำยันไว้กระจายให้ทั่ว