หลังจากได้ผู้ผ่านเข้ารอบจำนวน 10 คนแล้ว ในรอบการตัดสินผู้เข้ารอบทั้งหมดจะต้องมาจัดสวนในสถานที่จริง ภายในงานบ้านและสวนแฟร์ 2005 บริเวณลานเอาต์ดอร์ ของศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยกำหนดให้จัดบนพื้นที่ขนาด 2 x 3.5 เมตร คณะกรรมการที่ตัดสินผลการประกวดในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ พิชกรรม อาจารย์ศนิ วิรัชพันธุ์ คุณบุญชัย สกุลธรรมรักษ์ คุณสายขิม สายสมุทร และตัวแทนจากนิตยสารบ้านและสวน คุณวรวิทย์ อังสุหัตถ์ ผลการตัดสินมีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ
"Garden Room"

โดย คุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์
ใช้รูปแบบของงานตกแต่งภายในมาเป็นจุดเด่นในการจัดสวน โดยนำเสนอแนวคิดที่ว่าให้สวนเป็นเสมือนห้อง ๆหนึ่งของบ้าน เน้นการออกแบบโดยใช้เส้นทแยง ทำให้พื้นที่ดูมีสเปซมากขึ้น ส่วนผนังใช้หน้าต่างทรงยาว และไม้ระแนงทำให้ดูโปร่งโล่ง ขณะที่ผนังส่วนหนึ่งทำเป็นม่านน้ำตกไหลลงมาสร้างเสียงและความสดชื่นในสวน

รางวัลรองชนะเลิศ
"Blur the Boundary Blow the Space"

ทีม tectonix ประกอบด้วย คุณศุภสิทธิ์ เทพอำนวยสกุล คุณนริศร์พงศ์ จุฑาลักษณาวงศ์ คุณสัจจพงศ์ เล็กอุทัย
ออกแบบโดยเน้นที่ว่างให้สัมพันธ์กันทั้งภายในและภายนอก ฟังก์ชันการใช้งานสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น เพิ่มสเปซโดยเปิดประตูให้พื้นที่เชื่อมต่อกัน และการใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งภายในและภายนอก ทำให้เกิดความรู้สึกลื่นไหลของพื้นที่

รางวัลชมเชย 8 รางวัล ได้แก่
"Contrast and Balance in Japanese Garden"

คุณจตุพร นกเกตุ
เป็นสวนที่ชนะใจประชาชนจนได้รับรางวัลมหาชนเพิ่มไปอีกรางวัล สื่อแนวคิดที่เรียบง่ายตามสไตล์สวนญี่ปุ่น แต่เพิ่มความร่วมสมัยเข้าไปจนกลายเป็นสวนญี่ปุ่นแบบประยุกต์ การใช้งานเน้นการนั่งพักผ่อนแบบสงบโดยมีเสียงน้ำเบา ๆ ทำให้เกิดความนิ่งและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

"Outside Living"
คุณนฤมล ไล่มลฑิล
มีจุดเด่นอยู่ที่การเล่นระดับของพื้นและผนังซึ่งมีการเว้นช่องว่างอย่างเป็นจังหวะ ทำให้พื้นที่ดูโปร่ง และกว้างขึ้น รวมทั้งใช้พื้นที่แนวตั้งให้เกิดประโยชน์ด้วยการติดกระถางบนผนัง เพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ การเลือกใช้ต้นไม้ค่อนข้างลงตัวและนำมาจัดร่วมกันได้ดี

"A Room"
คุณธนะศักดิ์ เอนกวนนท์
แนวคิดหลักของสวนนี้คือ หากสวนคือห้อง ๆหนึ่ง จะทำให้รู้สึกว่าบ้านมีพื้นที่มากขึ้น นักออกแบบจึงนำหลายๆสไตล์มาผสมผสานกันจนออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนำลวดลายต่าง ๆมาสร้างรายละเอียดเล็ก ๆน้อย ๆ เช่น การเพ้นต์ลายประตู ลวดลายโครงเหล็กบนเก้าอี้ กรอบรูป ให้ความรู้สึกอ่อนหวานละมุนละไม

"The Tropical Painting"
คุณเกียรติภูมิ นราพิชญ์ และคุณพุทธิพงศ์ แฝงจันดา
เป็นสวนที่มีแนวคิดค่อนข้างแตกต่างจากสวนอื่นๆคือ สมมติให้เจ้าของบ้านเป็นชายหนุ่มที่มาจากต่างจังหวัดและชอบงานศิลปะ จึงออกแบบสวนโดยใช้ของตกแต่งแบบพื้นบ้าน มีมุมทำงานศิลปะเล็ก ๆ เลือกใช้ฮาร์ดสเคป และซอฟต์สเคปที่มีสีสันตัดกันอย่างรุนแรง ที่ทำได้ดีคือการใช้ต้นไม้เมืองร้อนสีสันสดใสตัดกันอย่างลงตัวสมกับเป็นสวนของคนรุ่นใหม่

"The Eastern Contemporary Links"
คุณกฤษณ์ เขียวลงยา
เน้นความโปร่งโล่งของพื้นที่ใช้สอยด้านนอก ใช้วัสดุไม้ไผ่ตกแต่งให้มีการเชื่อมต่อทั้งภายในและภายนอก แสดงถึงเส้นสายที่เรียบง่าย ให้อารมณ์สวนแบบตะวันออกอย่างแท้จริง

"Emotion Of Rotation"
คุณขจิตพงศ์ นาวาเจริญ
ผลงานของนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสวนที่ปรับเปลี่ยนได้ไม่ว่าจะทำเป็นที่นั่งเล่น ที่นอน ทำให้เกิดความหลากหลายตามอารมณ์ของผู้ใช้งาน

"Bubbles Garden"
คุณชัชชัย เปรมประวัติ
มีแนวคิดโดยการจัดสวนให้เชื่อมต่อออกมาจากห้องน้ำ ใช้ลูกเล่นของวงกลม ลูกบอล ลูกแก้วที่ให้ความรู้สึกเหมือนฟองสบู่ พาออกไปยังสวนภายนอก

"STRENGTH & SMOOTHNESS"
คุณวิลาสินี ปทุมปี
ใช้เส้นสายแบบทแยงทำให้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดดูกว้างขึ้น เลือกใช้รั้วโปร่งและวางไม้เลื้อยแทนแนวกำแพง ทำให้สวนมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น