คุณทัศนีย์ ยะจา เจ้าของสวนขนาด 12 ไร่ ณ บ้านดวงดี อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงสวนที่ล้อมรอบบ้านศิลาดลแห่งนี้ให้ฟังด้วยน้ำเสียงแบบสบายๆว่า แรกเริ่มที่เห็นที่ดินผืนนี้ ตนเองรู้สึกประทับใจกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่โดยรอบ จึงตัดสินใจปลูกสร้างบ้านและโรงงานผลิตเครื่องปั้นเครื่องเคลือบ “ศิลาดล” ขึ้นที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยมี คุณอำนวย อินทจักร เป็นผู้ออกแบบผังบริเวณให้

ประมวลแนวคิดในการออกแบบจากความต้องการของเจ้าของบ้าน
เนื่องจากด้านหน้าของที่ดินอยู่ติดกับถนนสายใหญ่ คือ ถนนดอยสะเก็ด-บ่อสร้าง ส่วนด้านข้างติดกับ กองหน้อย หรือซอยเล็กๆที่เป็นถนนชุมชนของชาวบ้านแถบนั้น รอบๆมีทั้งสวนดอกมะลิ สวนผัก และลำเหมืองหรือคลองชลประทาน เพราะฉะนั้นเจ้าของบ้านจึงอยากให้บ้านศิลาดลที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นมา มีความกลมกลืนกับชุมชนที่แวดล้อม มีข่วงคนเมืองเป็นลานชุมนุมสำหรับจัดงานประเพณีสำคัญต่างๆ ทั้งงานบุญและงานรื่นเริง มีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการต้อนรับอันแสนอบอุ่นของชาวล้านนาเป็นแลนด์มาร์คของพื้นที่ มีสระน้ำที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็น

แบ่งเขตพื้นที่ใช้สอย
เมื่อเจ้าของกำหนดภาพหลักของอาณาบริเวณทั้งหมดได้แล้ว นักออกแบบจะต้องจัดแบ่งเขตพื้นที่ใช้สอยให้สอดรับกับการใช้งาน โดยมีโจทย์เป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นเครื่องเคลือบ “ศิลาดล” เรือนพักอาศัย เรือนรับรอง เรือนแสดงงานและนิทรรศการ ร้านขายสินค้า อาคารสำนักงาน เรือนพักคนงาน คลังเก็บสินค้า และเตาเผา รวมทั้งความต้องการจากเจ้าของบ้านดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ลำดับต่อมาจึงกำหนดตำแหน่งตัวอาคารต่างๆทั้งหมดลงไปในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สัมพันธ์กับทางเข้าออกหลักและทางเข้าออกรอง สุดท้ายจึงเชื่อมส่วนต่างๆ ด้วยถนนและทางเดินนั่นเอง

สร้างเรื่องราวและมิติให้สวน
เขตพื้นที่ต่างๆถูกจัดสรรอย่างลงตัวตามลำดับความสำคัญในการเข้าถึง เช่น ร้านขายสินค้า โรงงานและอาคารสำนักงานอยู่ใกล้กับทางเข้าหลัก กลุ่มเรือนไทยล้านนาที่ประยุกต์ให้เป็นเรือนพักอาศัยของเจ้าของอยู่ถัดเข้ามา จากจุดนี้จะเห็นข่วงคนเมือง เป็นลานสนามหญ้าโล่ง อยู่ด้านหน้าเฮือนหลวง ซึ่งเป็นเรือนรับรองแขกผู้มาเยี่ยมชมบ้านศิลาดล แม้สภาพของข่วงคนเมืองที่เห็นจะเป็นเพียงสนามหญ้าผืนใหญ่ที่มีเรือนไทยล้านนาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลัง แต่ลานนี้ก็ถือเป็นจุดเด่นของงานแลนด์สเคปที่นี่ เพราะความงดงามของสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมได้รับการออกแบบให้ส่งเสริมกันและกันอย่างลงตัว

เมื่อข้ามฝั่งถนนไป คือ สระน้ำธรรมชาติที่รายล้อมด้วยศาลานั่งเล่น และมุมสวนที่นำเครื่องเคลือบ “ศิลาดล” มาวางประดับ ณ จุดนี้เราจะเห็นแลนด์มาร์คชิ้นสำคัญวางประดับให้เห็นคือ ประติมากรรมน้ำต้นหลวงตั้งประดับอย่างสวยงามบอกให้รู้ว่า สถานที่แห่งนี้พร้อมจะต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางแวะผ่านเข้ามาทุกคน เป็นธรรมเนียมแสดงความมีน้ำใจแบบเมืองเหนือ

บริบททั้งหมดที่มาหล่อหลอมรวมกันเป็นเรื่องราวของ บ้านศิลาดล แห่งนี้ คือ ความตั้งใจของเจ้าของบ้านและนักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ที่ต้องการรักษาวัฒนธรรมและภาพชีวิตชาวล้านนาให้คงอยู่ หากใครได้มาสัมผัสจะรู้ได้ทันทีว่า เพราะเหตุใดวัฒนธรรมศิลาดลจึงแตกต่างจากวัฒนธรรมเซรามิกที่พบเห็นอยู่ทั่วไป