หลังจากทำงานไฟฟ้าตามที่เรียนมาในโรงงานแห่งหนี่ง เมื่อถึงยุคฟองสบู่แตก คุณนิคม อรุณรัตน์ก็เหมือนคนไทยหลายคนที่ถูกลอยแพออกจากงานเนื่องจากโรงงานปิดกิจการลง หนุ่มใหญ่คนนี้หันเหมารับจ้างหลายอย่าง จนมาปิดท้ายด้วยการรับจ้างในร้านขายสินค้าหัตถกรรมของพี่สาว ที่นี่เองที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับเขา

“สิ่งที่ได้จากการทำงานในร้านนี้คือได้เจอกับงานศิลปะหลาย ๆ อย่าง จนวันนึงเราอยากได้อะไรมาตกแต่งร้านเพิ่มเลยคิดทำโคมไฟไม้ไผ่ขึ้นมา” คุณนิคมย้อนอดีตให้ฟัง ที่เขาเลือกทำโคมไฟไม้ไผ่นั้นเพราะว่าเขาได้ไม้ไผ่นครนายกมาจากเพื่อน เป็นไม้ไผ่ที่ลำใหญ่มาก หาได้ไม่กี่จังหวัดในประเทศไทยเท่านั้น


โคมไฟไม้ไผ่ที่คุณนิคมทำนั้นจะแกะลายเป็นรูปดอกบัว สัญลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ทำขึ้นมา 5 อัน โดยคิดแค่ว่าจะใช้ประดับร้านเท่านั้น แต่....”พอลูกค้าเห็นก็ถามว่าขายหรือเปล่า ทีแรกก็ว่าจะไม่ขายเพราะทำแค่ 5 อันเอง แต่พอคนมาถามมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยลองทำขายดู” คุณนิคมเล่าต่อ

ถึงจะเรียนวิชาไฟฟ้ามา แต่ฝีมือด้านศิลปะของคุณนิคมถือว่าพอตัวทีเดียวเพราะนอกจากนี้เขายังทำกรอบรูปงานประดับมุกอีกด้วย โดยรับฟังกรรมวิธีการทำมาจากเพื่อนและลงมือทำเอง แต่ก็มีการดัดแปลงไปเรื่อยเนื่องจากมุกมีราคาแพง สุดท้ายมาลงตัวที่การใช้สติ๊กเกอร์สะท้อนแสงทำเป็นพื้นแทนมุกและวาดเส้นด้วยปากกาเขียนแบบ...ซึ่งงานนี้แหละเบสิคของการประดิษฐ์โคมไฟแบบที่เห็นในปัจจุบัน

“ถ้าเราจะทำโคมไฟไม้ไผ่ เราไปทำแบบเชียงใหม่หรือนครนายกคงสู้เค้าไม่ได้เพราะเค้าทำมานาน ของนครนายกนี่งานจะออกมาเป็นฉลุรูปดอกไม้ แล้วก็ใส่ไม้ไผ่สานข้างใน ส่วนของเชียงใหม่จะเป็นการโชว์งานสานแล้วก็ลงสีแนวน้ำตาลแก่ ๆ เราเลยต้องทำให้แตกต่าง” คุณนิคมแสดงความเห็น


โคมไฟไม้ไผ่ในแบบฉบับของ “สามโคก” ที่คุณนิคมคิดขึ้นมาใหม่ให้ฉีกแนวไปจึงเป็นการนำเอากรอบรูปมาผสมลงไปกับโคมไฟไม้ไผ่ฉลุลาย เมื่อเปิดไฟปุ๊บก็จะเห็นรูปนั้นสว่างสไวขึ้นมา กลายเป็นของตกแต่งที่สวยงามและมีชีวิตชีวาไปเพราะรูปที่ใส่น่ะสามารถใส่รูปถ่ายของตัวเองเข้าไปได้ด้วย

วิธีการนำเอากรอบรูปมาใส่ลงไปในโคมไฟไม้ไผ่ก็ไม่ยากอะไร แค่เอาภาพมาอัดใส่แผ่นใสตามที่ต้องการ อาจจะวาดเป็นลายเส้นขึ้นมา, ถ่ายเอกสารลงไปหรือนำรูปถ่ายมาถ่ายลงไปก็ได้ทั้งสิ้น จากนั้นก็นำเอาพลาสติคแข็งหรือพีวีซีมาหุ้มเพื่อเป็นการประคองรูปเอาไว้ แค่นี้ก็เป็นเพิ่มมูลค่าและสร้างเอกลักษณ์ให้โคมไฟได้แล้ว

รูปที่คุณนิคมนิยมนำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นรูปภาพตัวละครจากวรรณกรรมเอกเรื่อง “รามเกียรติ์” เหตุผลก็แค่ “ผมชอบเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องการต่อสู้กันของความดีและความชั่ว แล้วก็เป็นงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ด้วย ผมถือว่าเป็นการช่วยสืบสานวรรณศิลป์เรื่องนี้แม้จะนิดหน่อยก็ยังดี” คุณนิคมบอก


ส่วนวิธีการทำลายฉลุนั้นจะนำเอาไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาติดแบบ ติดลายลงไปซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลายไทยต่าง ๆ บางแบบที่เขียนง่ายก็อาจจะเขียนลงไปเองด้วยปากกา จากนั้นก็ทำการฉลุตามลายโดยจะเว้นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับกรอบรูปเอาไว้ ลายฉลุตอนนี้คุณนิคมบอกว่าคนนิยมอยู่ 4 แบบ แต่ถ้าต้องการลายอื่นก็สามารถสั่งได้ด้วย

สีของโคมไฟไม้ไผ่นั้นจะทำออกมา 2 สีคือสีโอ๊คกับสีประดู่ โดยจะทาสีลงไปแล้วก็ลงแลกเกอร์ธรรมดา นอกจากนี้ยังมีแบบไม่ทาสีด้วย ซึ่งก็เป็นงานที่สวยงามไปอีกแบบเพราะเป็นการโชว์ลายเนื้อไม้ไผ่ แบบหลังนี่จะใช้วิธีการลอกเปลือก ลอกลายออก จากนั้นใช้โซดาไฟกัดแล้วนำมาขัดเพื่อแสดงความดิบของเนื้อไม้ออกมา

รูปลักษณะของโคมไฟไม้ไผ่ที่ออกมาจะมีความสูง 18 นิ้ว กว้าง 5 นิ้ว มีช่องใส่ภาพที่ต้องการ (สามารถเปลี่ยนได้ตลอดตามความพึงพอใจ) ขนาด 8 x 10 นิ้ว ส่วนหลอดไฟนั้นจะใช้หลอดแบบประหยัดไฟ ห้ามใช้หลอดชนิดไส้เพราะว่าจะทำให้เกิดความร้อนสูงจนกระบอกไม้ไผ่เกิดความชำรุดเสียหายได้


งานไม้ไผ่จะมีปัญหาแค่เรื่องรา เรื่องแมลงแล้วก็การแตกของไม้ พอได้ไม้มา เราจึงต้องแช่น้ำยากันแมลงก่อนเพื่อเป็นการฆ่าแมลงที่ติดมากับไม้ ฉลุลายเสร็จก็ต้องลงน้ำยาอีกทั้งน้ำยากันแมลงและเชื้อรา ส่วนเรื่องแตกนั้นก็แก้ปัญหาหลายอย่างครับทั้งการใช้เชือกมัดตรงฐานเพื่อไม่ให้ไม้มันขยายตัวเกินไป หรือการเซาะร่องแล้วก็ฝังลวดก็ช่วยได้ ที่สำคัญอย่าไปใช้หลอดไฟแบบไส้ครับ” คุณนิคมอธิบาย

ช่องทางจำหน่ายของ “โคมไฟไม้ไผ่สามโคก” ตอนนี้ก็มีแค่ที่กลุ่มอาชีพหัตถกรรมบ้านโพธิ์ซึ่งอยู่ในซอยข้าง ๆ วัดสามัคคิยาราม อ.สามโคกเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการนำออกจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ด้วย คุณนิคมบอกว่าใครที่สนใจนำไปจัดจำหน่ายก็สามารถติดต่อได้เพราะทิศทางการตลาดตอนนี้ถือว่าดีทีเดียว

และเจ้า “ไม้ไผ่” ที่นำมาเป็นโคมไฟนี่แหละที่มากลมกลืนชีวิตกับชาวบ้านโพธิ์เพราะตอนนี้พวกเขารวมกลุ่มกันขึ้นมาเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อรังสรรค์งานหัตถกรรมชิ้นนี้และก็ถือได้ว่า “โคมไฟไม้ไผ่สามโคก” เป็นสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ของดีอีกอย่างของจังหวัดปทุมธานีด้วย