1. ตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ไม่บังลม

อีกเรื่องพื้นฐานที่เหมาะกับบ้านทุกหลัง คือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในตำแหน่งที่ไม่บังทิศทางลม ไม่วางตู้หรือชั้นวางแบบปิดทึบขวางทางลม ซึ่งจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศเสียไป ควรเปิดช่องให้อากาศพัดผ่านเข้า-ออกได้สะดวก มีการหมุนเวียนอากาศที่ดี ลดความอบอ้าวและอับทึบได้เป็นอย่างดี และช่วยลดปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย


2. เลือกเครื่องไฟฟ้าปริมาณพอดี

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก ควรพิจารณาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้งาน เพื่อลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าเกินจำเป็น อย่าง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โคมไฟ เครื่องดูดควัน เตาไฟฟ้า โดยกำหนดจุดติดตั้งให้เหมาะสมอยู่ในจำนวนที่พอเหมาะกับการใช้งาน เพื่อควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น


3. ทาสีบ้านโทนอ่อน

สีที่เลือกใช้ควรเป็นสีโทนอ่อน จะช่วยสะท้อนแสงได้ดีกว่าสีในโทนเข้ม และทำให้บรรยากาศของบ้านสว่างขึ้น ไม่อับทึบ เน้นที่สีขาว ครีม หรือสีในโทนอ่อนสดใส เพราะจะมีส่วนช่วยสะท้อนแสงได้มากในช่วงกลางวัน


4. เลี่ยงรับแสงแดดแบบตรง ๆ

ไม่ควรเจาะช่องแสง หรือช่องหน้าต่างในด้านที่มีแสงแดดส่องเข้ามาตรง ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องอาศัยการตกแต่งภายในช่วยด้วยการใช้ม่าน มู่ลี่ มาควบคุมปริมาณแสงแดดที่ส่องเข้ามาภายใน จะได้ไม่สะสมความร้อนมากเกินไป


5. แต่งเฟอร์นิเจอร์แบบเรียบ ๆ

เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งต่าง ๆ ควรเป็นดีไซน์เรียบ ๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีซอกมุมสะสมฝุ่น เพื่อลดภาระการทำความสะอาด บางทีอาจใช้เฟอร์นิเจอร์ช่วยลดความร้อน โดยใช้ตู้ขนาดใหญ่วางชิดผนัง หรือการตกแต่งแบบ Built – in ก็ช่วยได้เช่นกัน ส่วนวัสดุที่ใช้ควรมีคุณสมบัติไม่สะสมความร้อน


6. บ้านกระจก

นอกจากกระจกเงา กระจกใสจะช่วยทำให้บ้านกว้างขึ้นแล้ว ยังช่วยสะท้อนแสงได้ดีเหมาะกับบ้านแบบประหยัดพลังงานอย่างมาก ส่วนบ้านที่มีช่องหน้าต่างรับแสงโดยตรง กระจกที่ใช้ควรเป็นกระจกชนิดพิเศษที่ยอมให้แสงผ่านได้มากแต่รับความร้อนผ่านได้น้อย เช่น กระจกฮีตมิเรอร์ และฮีตสต็อป