ขั้นตอนแรก ควรสอบถามประวัติของบ้านจากเจ้าของเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน เช่น สร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ผู้ที่ทำการก่อสร้างนั้นมีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในปัจจุบันหรือไม่ มีใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ มีแบบก่อสร้างหรือพิมพ์เขียวที่ถูกต้องหรือไม่ และอาจสอบถามจากเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันเกี่ยวกับบ้านที่จะซื้อ เช่น ประวัติของเจ้าของบ้านเดิม หรือ เรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นว่าดีหรือ ไม่ดีเพื่อความเป็นอยู่ที่สุข สบายของท่านและบรรดาสมาชิกในบ้านของท่านในอนาคตด้วยครับ
ขั้นตอนที่สอง เป็นการตรวจสอบด้วยสายตาของท่านเองซึ่งมองจากภาพกว้าง ๆ โดยรอบไปสู่ความละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1. สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน เช่น บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่ม น้ำสามารถท่วมขังได้หรือมีมลภาวะจากเสียง แสง และกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้หรือเปล่าต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น

2. สภาพโดยรวมของตัวบ้าน ซึ่งการสร้างบ้านที่ดีนั้นควรอยู่ในแนวดิ่ง ไม่เอียง คานและพื้นไม่แอ่นตัวมากจนเห็นได้ชัด มีร่องรอยการซ่อมแซมหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจอาจจำเป็นต้องหาสถาปนิกและวิศวกรในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบ

3. ตรวจสอบสภาพรอยร้าวในผนังบ้านเกิดในลักษณะใด เป็นแบบแตกลายงาหรือรอยแตกในแบบ สะเปะ สะปะ หรือไม่ แต่ถ้าพบว่ามีรอยร้าวเอียง ทแยงมุมจากเสาถึงคาน หรือ จากพื้นถึงคาน หรือรอยร้าวในแนวดิ่งจากพื้นถึงคาน ควรหาวิศวกรโยธามาตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างและส่วนประกอบหลัก ๆ ของบ้านยังแข็งแรงอยู่เพราะลักษณะการแตกร้าวดังกล่าวถือว่าอยู่ในขั้นก่อให้ เกิดอันตรายได้ครับ

การเลือกซื้อบ้านมือสองนั้นมีข้อควรระวังซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการ พิจารณาเลือกซื้อบ้านมือสอง นั่นคือ การตรวจสอบรอยร้าวในคานและเสา อันเป็นโครงสร้างส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องความทนทาน แข็งแรงของอาคารบ้านเรือน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยร้าวในคานและเสาเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจ นะครับ ตั้งสติให้มั่นแล้วดูว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นรอยร้าวประเภทใด ถ้าเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ สั้น ๆ หรือรอยร้าวคล้าย ๆ รอยบนหลังเต่า ก็จงเข้าใจว่าสาเหตุของรอยร้าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปูนที่ใช้ฉาบระหว่างการ ก่อสร้าง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความแข็งแรงหรือรากฐานความมั่นคงของบ้านแต่อย่างใด แต่ถ้ารอยร้าวนั้นเป็นรอยร้าวในแนวดิ่งที่กึ่งกลางของคานบ้าน เพื่อความมั่นใจและความเป็นอยู่ที่ไม่มีผลกระทบในอนาคตก็ควรรีบปรึกษาวิศวกร โยธาครับ

ลำดับต่อมาเป็นการสังเกตดูสภาพพื้นของบ้านหลังนั้น ๆ ซึ่งในหลักการของการพิจารณานั้น บ้านมือสองที่อยู่ในสภาพที่ดี ลักษณะของพื้นไม่ควรมีรอยร้าวเป็นแนวยาวที่กึ่งกลางของแผ่นพื้น และถ้าพื้นคอนกรีตกร่อนจนเห็นเหล็กเสริมเป็นแนวยาว มีสนิมจากเหล็กเป็นแนวยาว หรือเห็นเป็นตาราง แสดงว่าพื้นมีสภาพไม่ค่อยดี หากตรวจสอบแล้วพบว่าบริเวณพื้นนั้นแอ่นเป็นแอ่งตรงกลาง แล้วสงสัยว่าเกิดจากอะไร อย่าพิรี้พิไรยืนพิจารณาให้เสียเวลา ขอให้ลองกระโดดหรือขย่มน้ำหนักดู ถ้ารู้สึกว่าพื้นอ่อนหรือยวบลง (ไม่ใช่กระเทือนหรือกระเด้ง) แสดงว่าผิดปกติ ให้นำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาวิศวกรโยธาก่อนตัดสินใจซื้อและเพื่อความชัดเจน ในการวิเคราะห์ก็ควรเตรียมภาพถ่ายของสถานที่ไปให้วิศวกรโยธาดูด้วย