ลักษณะที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากหลายสาเหตุที่กล่าวมา แก้ได้ด้วยการ “ยกอาคารให้สูงขึ้น” ปัจจุบันมีหลาย บริษัทที่รับทำ แต่ก็มีหลายบริษัทเช่นกันที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีผู้ได้รับอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ ธเนศ วีระศิริ รองเลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงสถานการณ์ตึกทรุดขณะนี้ว่า ปัจจุบันมีบ้านหลายหลังที่   ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของอาคารมาก ทั้งด้วยปัจจัยของฐานรากที่ไม่ได้มาตรฐานจากความไม่รับผิดชอบของผู้สร้าง และอีกประเด็นเป็นผลจากชั้นดินมีความอ่อนตัวสูง เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ บางราย ผู้สร้างเจาะเสาเข็มไปไม่ถึงชั้นดินแข็ง ทำให้ทรุดเร็ว บางราย ต่อเติมบ้านโดยตอกเสาเข็มสั้นกว่าของเดิมพอเกิดการทรุดตัว อาคารทั้งสองจะดึงกันจนเกิดเป็นรอยร้าวน่ากลัว!
   
อาคารที่จำเป็นต้องยก ให้สูงขึ้นมีด้วยกันสองกรณี คือ 1.พื้นที่โดยรอบอาคาร ถูกถมให้สูงจนพื้นที่ของอาคารต่ำและ 2.ฐานรากของอาคารมีปัญหาทำให้อาคารทรุดเอียง ซึ่งทั้งสองกรณี ต้องยกให้สูงขึ้นโดยวิธีทางวิศวกรรมในการเสริมเสาเข็มเพิ่มเติมให้สูงขึ้นใน ระดับที่ต้องการ ขณะเดียวกันขั้นตอนที่ยากเกิดจากบางกรณีเสาเข็มเดิมมีการหักทำให้ยากลำบากใน การต่อเติม
   
“เนื่องจากผู้ประกอบการ ที่รับยกตึกให้สูงมีเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ใช้บริการจะต้อง มีความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกสรรเพิ่มมากขึ้น เพราะการยกอาคารที่มีความสูงต้องคำนวณน้ำหนักทางวิศวกรรมของตัวตึก และวางแผนการยกอย่างรอบด้าน มิฉะนั้น  คนงานอาจได้รับอันตราย ซึ่งเห็นได้จากข่าวการยกตึกแล้วพลาดทับคนงานในหลายราย ที่ผ่านมา”