จัดการกับปัญหากลิ่นและควันในห้องครัวให้หมดไป



•    กั้นพื้นที่ส่วนห้องครัว

 ทาวน์เฮาส์หรือทาวน์โฮมส่วนใหญ่มักมีครัวอยู่หลังบ้าน เราจึงสามารถจำกัดการกระจายกลิ่นและควันไม่ให้เข้าไปในส่วนอื่น ๆ ของบ้านได้ง่ายดาย  ด้วยการกั้นห้องติดตั้งประตูกั้นพื้นที่นั้น  ซึ่งก็มีหลากดีไซน์หลายวัสดุให้เลือก ทั้งนี้เราควรคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่  ลักษณะการใช้งาน และสไตล์การตกแต่งเป็นหลักด้วย  ส่วนบานประตูที่ว่านั้นจะมีแบบไหนบ้าง ไปเลือกดูกันเลย

1.ประตูบานสวิง เป็นประตูบานเปิดที่สามารถผลักเข้าออกได้สองทาง อาจเลือกแบบไม่มีมือจับ เพื่อความสะดวกสบายระหว่างใช้งานเดินเข้าออกบ่อย ๆ บานประตูสวิงเหมาะสำหรับบริเวณที่มีพื้นที่แคบและยาว  ไม่มีพื้นที่ด้านข้างพอสำหรับซ้อนบานเลื่อน โดยคุณสามารถเลือกใช้ได้ทั้งบานแบบ  uPVC หรือกรุสเตนเลสที่ทนทานและทำความสะอาดง่าย
 
2.ประตูบานเลื่อน ช่วยแก้ปัญหาการเสียพื้นที่ในรัศมีการเปิดประตูบานสวิง อาจเลือกใช้แบบบานแขวนเพื่อป้องกันการเดินสะดุดรางเลื่อนบนพื้น หรือกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งรางแบบฝังได้ แต่หากไม่อยากให้ประตูดูเป็นส่วนเกิน อาจเลือกใช้บานประตูอะลูมิเนียมทึบทำสีพาวเดอร์โค้ทให้กลายเป็นผนังอีกด้านไปเลย แม้จะมีราคาสูง แต่ก็ดูแลรักษาง่าย  มีความทนทานกว่าบานประตูไม้
 
3.ประตูบานเฟี้ยม เหมาะกับบ้านที่ต้องการพื้นที่แบบเปิด โดยสามารถเปิดบานเฟี้ยมเพื่อเชื่อมพื้นที่ครัวและส่วนอื่นของบ้านได้  ขณะไม่ได้ประกอบอาหารหรือมีปาร์ตี้ บานเฟี้ยมกินพื้นที่การใช้งานน้อยและเปิดได้กว้างกว่าประตูแบบอื่นๆ โดยเราสามารถเลือกวัสดุและออกแบบหน้าบานให้เป็นจุดเด่นของห้องได้ แต่ควรติดตั้งทั้งรางบนและรางฝังพื้นเพื่อป้องกันบานแกว่ง ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ติดตั้งพัดลมดูดอากาศบนผนังบริเวณที่ใกล้กับเตา เพื่อช่วยดูดควันและช่วยระบายอากาศ ให้อากาศถ่ายเทได้ดีระหว่างประกอบอาหาร


•    ติดตั้งเครื่องดูดควัน

 หากตำแหน่งของห้องครัวไม่เอื้ออำนวยให้กั้นพื้นที่ อย่างห้องครัวในคอนโดมิเนียม เครื่องดูดควันก็เป็นตัวเลือกยอดนิยมที่ช่วยลดความรุนแรงของควัน กลิ่นอาหาร และคราบน้ำมันตามผนัง ที่ทำความสะอาดยาก อย่างได้ผล



จัดการกับปัญหากลิ่นและควันในห้องครัวให้หมดไป



การเลือกซื้อเครื่องดูดควันสำหรับครัวไทย
 
- ควรเลือกเครื่องดูดควันที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือพอดีกับพื้นที่เตาประกอบอาหาร อาจกว้างกว่าด้านละ 10 เซนติเมตร เพื่อให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดควัน
- เครื่องดูดควันสำหรับครัวไทยควรต้องมีกำลังดูดอากาศอย่างน้อยชั่วโมงละ 1,500 – 2,000 ลูกบาศก์เมตร จึงจะเอาอยู่ และควรเลือกแบบปรับความแรงพัดลมได้หลายระดับตามลักษณะการปรุงอาหารเพื่อประหยัดไฟฟ้า
 - ควรเลือกแบบระบบดูดอากาศผ่านท่อออกสู่ภายนอก เพราะมีพลังดูดอากาศสูง กำจัดควันได้หมดรวดเร็ว


การติดตั้ง

 - สำหรับเครื่องดูดควันที่มีท่อระบายอากาศสู่ภายนอกในส่วนที่ไม่มีชายคา ควรดูแลให้ช่างติดตั้งท่อส่วนปลายให้ต่ำกว่าท่อส่วนต้น เพื่อป้องกันน้ำฝนสาดและไหลย้อนเข้าไปในเครื่องดูดควัน จนอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
- ขณะเครื่องดูดควันทำงานจะเกิดการเคลื่อนที่ของลม ดังนั้นจึงควรติดตั้งในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทเพื่อให้เครื่องดูดควันทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่เกิดภาวะสุญญากาศ
 - เครื่องดูดควันที่มีกำลังสูงอาจมีเสียงดัง แก้ปัญหาได้ด้วยการติดตั้งมอเตอร์พัดลมไว้ภายนอก แต่ควรระมัดระวังไม่ให้เสียงและท่อระบายควันอยู่ในตำแหน่งที่รบกวนเพื่อนบ้าน


การบำรุงรักษา

 - ควรถอดแผงตะแกรงและถ้วยรองน้ำมันของเครื่องดูดควันออกมาทำความสะอาดเป็นประจำด้วยน้ำยาล้างจาน แต่ถ้าเป็นคราบฝังแน่นให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาแอมโมเนียเช็ดให้สะอาดหรือแช่ในโซดาไฟเจือจาง เพื่อให้คราบสกปรกหลุดออกมาเอง อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการใช้สารละลายอันตรายทั้งสองชนิด  โดยทำตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด

room’s tips
 เครื่องดูดควันในท้องตลาดทั่วไปที่มีรูปทรงสวยงามมักมีกำลังดูดไม่เพียงพอกับการใช้งานจริงของครัวไทย เราจึงขอแนะนำให้สั่งทำเครื่องดูดควันกำลังแรงพิเศษที่มักใช้ในร้านอาหารหรือโรงแรม แม้ดีไซน์จะไม่โดนใจ แต่เราก็สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินมาช่วยปกปิดความเทอะทะของเครื่องและปล่องระบายควันให้ดูกลมกลืนกับห้องครัวโดยรวมได้ไม่ยาก
 

 credit : thairath.co.th