โดยทั่วไปสีแบ่งออกเป็น 3 ชั้น

  1. สีพื้นฐาน (Primary Color) หรือแม่สี ได้แก่ แดง เหลือง น้ำเงิน
  2. สีขั้นที่สอง (Secondary Color) เกิดจากการจับคู่แม่สีผสมกันในอัตราส่วนเท่ากัน ได้สีใหม่ 3 สีคือ เขียว ส้ม ม่วง
  3. สีขั้นที่สาม (Tertiary Color) เกิดจากการจับคู่แม่สี ผสมกับสีขั้นที่สองที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้สีเพิ่มอีก 6 สี คือ เขียวเหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วง น้ำเงิน ม่วงแดง ส้มแดง ส้มเหลือง

นอกจากนี้ยังมีสีขั้นที่สี่ ที่เกิดจากการผสมของแม่สีกับสีขั้นที่สามและสีขั้นที่สองที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้สีอีก 12 สี รวมทั้งสิ้น 24 สี และ เมื่อนำสีทั้งหมดไปผสมกับสีขาวหรือดำ จะเกิดเป็นสีที่น้ำหนักแตกต่างกันอีกสีละ 40 น้ำหนัก

โทนสี
โทนสีต่างกันให้อารมณ์ที่ต่างกันอย่างมากมาย เราแบ่งโทนสีออกเป็น 2 โทนกว้างๆ ดังนี้

สีโทนเย็น (Cool) คือกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสงบเย็น นิ่ง ผ่อนคลาย อิสระ เสรี และดูสบายตา เช่น ขาวอมฟ้า เขียว ม่วง น้ำเงิน
สีโทนร้อนหรืออุ่น (Warm) ให้ความรู้สึกกระตือรือร้นสดใส สบาย รู้สึกกระฉับกระเฉง อบอุ่น ใกล้ชิด มีชีวิตชีวา เช่น ขาวอมเหลือง ส้ม แดง

ตัวอย่างของสีที่มีผลต่อความรู้สึก
สีดำ ทำให้ความรู้สึกเป็นเอกเทศ ดูทันสมัย เข้มแข็ง และช่วยหนุนให้สีอื่นๆดูเข้มขึ้น ถ้าจะนำสีดำมาใช้ในการตกแต่งภายใน ก็คงไม่ใช่สีดำล้วนเพราะจะทำให้ดูทึบ เศร้า ส่วนใหญ่นิผมใช้เป็นสีตัด เช่น ตู้สีดำบนผนังสีสด เป็นต้น
สีน้ำตาล เป็นสีจากธรรมชาติของเนื้อไม้ ดูสวยงามและอบอุ่น ใช้ได้กับทุกห้อง
สีน้ำเงิน เป็นสีที่ร่าเริงและสบายตา ให้ความรู้สึกโล่งกว้างและมีชีวิตชีวา เหมาะกับห้องน้ำ ห้องครัว หรือห้องรับแขก
สีเขียว ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ต้นไม้ใบหญ้าให้ความผ่อนคลายทางสายตาและจิตใจ จึงเหมาะที่จะใช้ตกแต่งห้องนอน

โครงสี
โครงสี คือแบบร่างในการเลือกใช้สีซึ่งจะกำหนดเป็นสีผนัง พื้น เพดาน พรม และเฟอร์นิเจอร์ โดยทั่วไปนิยมใช้เพียง 3-4 สี จะกลมกลืนหรือตัดกันก็ตาม

ขั้นตอนการกำหนดโครงสี

  1. เลือกสีหลัก หมายถึงสีที่ใช้สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของห้อง เช่น ผนัง พื้น เพดาน โดยดูจากโทนสีทีเหมาะสม และจุดประสงค์ที่ต้องการใช้สีนั้น เช่น ต้องการใช้สีอ่อนเพื่อลวงตาให้ดูว่าห้องกว้างขั้นหรือผนังสูงขึ้น เป็นต้น
  2. เลือกสีรอง หมายถึงสีที่เข้ากันได้กับสีหลัก จะเป็นสีกลมกลืนหรือตัดกันก็ได้ และไม่ควรใช้เกิน 2 สี โดยอาจใช้กับประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก และผนังบางด้าน โดยทั่วไปจะใช้อัตราส่วนสีหลักต่อสีรองเป็นสามต่อสี่
  3. เลือกน้ำหนักของสีหรือความเข้มของสี ในสีเดียวกันเองอาจเลือกใช้น้ำหนักที่แตกต่าง เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นไม่จืดตา ยกตัวอย่าง ห้องที่มีสีหลักเป็นสีฟ้า มีสีรองเป็นสีเหลืองอาจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์บุผ้าสีเหลืองเข้ม
  4. เลือกสีเน้น ได้แก่ สีของวัตถุตกแต่งขนาดเล็กในห้อง ส่วนใหญ่นิยมใช้สีสดใสที่แตกต่างจากสีหลักและสีรอง เพื่อเพิ่มความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นอีก เช่น สีชมพูของแจกัน สีแดงของหมอนอิง แต่ต้องระวังไม่ใช้ในปริมาณมากจนเกินงาม

สีตัด หมายถึงสีคู่ตรงข้ามในวงล้อสี เช่นสีแดงตรงข้ามกับสีเขียว สีน้ำเงินตรงข้างกันสีส้ม สีเหลืองตรงข้ามกับสีม่วง ตัวอย่างการใช้สีตัดเพื่อเพิ่มความสดใสให้ห้องเช่น ห้องนอนสีเหลืองอ่อน อาจใช้ม่านหน้าต่างสีน้ำเงินลายทางขาว และใช้ชุดเครื่องนอนสีแดงเข้ม เป็นต้น

โทนแสงกับโทนสี
การเลือกใช้โทนแสงไฟ ต้องดูให้เข้ากับโทนสีโดยรวมห้องด้วย เพราะทิศของแสงคือสิ่งที่จะช่วงสร้างบรรยากาศของห้องให้เป็นไปตามโทนสี การเลือกใช้โทนแสงผิด อาจทำลายโทนสีที่จัดมาอย่างดีได้อย่างน่าเสียดาย

ถ้าการตกแต่งโดยรวมเป็นสีโทนอุ่น การใช้แสงไฟโทนอุ่น จะช่วยเน้นให้ห้องดูสว่าง สดใส และดูกลมกลืนในขณะที่การใช้แสงไฟโทนเย็นจะทำให้โทนสีห้องดูจืดลง
ถ้าการตกแต่งโดยรวมเป็นสีโทนเย็น การใช้แสงไฟโทนเย็น จะเสริมให้ห้องน้ำดูนุ่มนวลสบายตา แต่ถ้าใช้โทนแสงอุ่นก็อาจจะมีผลให้สีโทนเย็นดูทึมทึบลง